ELECTRONIC DATABASE SYSTEM FOR ANTI-HUMAN TRAFFICKING OF THAILAND
การประชุมทวิภาคีไทย-ลาว เพื่อทบทวนบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวว่าด้วยความร่วมมือต่อต้านการค้ามนุษย์ ครั้งที่ 2ระหว่างวันที่ 6 – 10 มิถุนายน 2559 ณ โรงแรมเคป พันวา จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทยและลาว ได้ตระหนักถึงความสำคัญและผลกระทบของปัญหาการค้ามนุษย์ รวมทั้งการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จึงได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวว่าด้วยความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 ณ ทำเนียบรัฐบาล ประเทศไทย ซึ่งภายหลังจากการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวแล้ว ประเทศไทยและลาวได้มีการพัฒนาความร่วมมือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยการนำบันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งเป็นกรอบในการดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์แปลงมาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ฉบับดังกล่าว ต่อมาสถานการณ์ปัญหาการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศไทยและลาวเปลี่ยนแปลงไปทั้งในด้านรูปแบบ วิธีการ เส้นทางการค้ามนุษย์ ความซับซ้อนของปัญหา และจำนวนของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รัฐบาลของทั้งสองประเทศจึงเห็นจึงเห็นพ้องกันให้มีการทบทวนบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 22 – 25 กันยายน 2558 ฝ่ายลาวเป็นเจ้าภาพในการประชุมทบทวนบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวว่าด้วยความร่วมมือต่อต้านการค้ามนุษย์ ณ แขวงหลวงพระบาง ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ตกลงในหลักการของบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับที่ 2 ประกอบด้วยความร่วมมือ 5 ด้าน คือ ด้านการป้องกัน ด้านการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ด้านความร่วมมือในการปราบปรามการค้ามนุษย์ การประชุมทวิภาคีไทย-ลาว เพื่อทบทวนบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวว่าด้วยความร่วมมือต่อต้านการค้ามนุษย์ ครั้งที่ 2 นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือในรายละเอียดของข้อตกลงในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการป้องกัน การปราบปราม การส่งและรับกลับ และด้านการคืนสู่สังคม รัฐบาลไทยคาดหวังว่าการประชุมครั้งนี้ จะนำไปสู่ความสำเร็จในการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับที่ 2 ซึ่งจะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาและดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ ทั้งในประเทศต้นทาง และปลายทาง ตลอดจนช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยคำนึงถึงประโยชน์ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เสียหายเป็นสำคัญ อันเป็นเจตนารมณ์ของทั้งสองประเทศในการต่อต้านการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป รวมทั้งยังเป็นการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างทั้งสองประเทศให้มีความเข้มแข้ง และใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วย